วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เพราะ "ชา" มีประโยชน์ คนจึงชอบดื่ม


ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้คนหลงไหลในกลิ่นและรสชาติมานานกว่า 2,000 ปี ชามีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้ และอินเดียตอนเหนือ เชื่อว่าชนชาติแรกที่รู้จักดื่มชาคือชาวจีน แล้วแพร่หลายเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันไปทั่วโลก ชามีความสำคัญและเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของคนหลายชนชาติ จึงก่อกำเนิดชาหลายประเภทและหลากรสชาติ

ชาที่นิยมดื่มและมีขายทั่วไปในท้องตลาดแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ชาเขียว (Green Tea) ชาดำ (Black Tea) และชาอูหลง (Oolong,Red Tea) ซึ่งผลิตมาจากต้นชา (Camellia sinensis) เหมือนกัน แต่ต่างกันที่กรรมวิธีการผลิต โดยชาเขียวคือ ใบชาที่เก็บมาจากต้นแล้วรีบนำไปอบหรือคั่วให้แห้งทันที โดยไม่นวดหรือหมัก ใบชาจึงยังคงสีเขียวและให้รสชาติใกล้เคียงใบชาสดมากที่สุด ชาดำหรือชาฝรั่ง จะเก็บใบชามานวดแล้วหมัก ก่อนที่จะนำไปอบให้แห้ง จะได้ใบชาสีเข้ม รสขมปนฝาดมากขึ้น ส่วนชาอูหลงคือ ใบชาที่นำมานวดพอให้ผิวนอกช้ำ แล้วให้แห้ง สีและรสจะอยู่ระหว่างชาสองประเภทแรก
ชามีสารประกอบหลายชนิด ได้แก่ สารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งกระบวนการออกซิเดชั่นของไขมัน จึงลดการเกิดหลอดเลือดแข็งตัว ส่งผลลดการเกิดโรคหัวใจ สารคาเทชิน (Catechin) ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน จึงมีการนำสรรพคุณไปโฆษณาเครื่องดื่มเพื่อลดน้ำหนักตัว ซึ่งแท้จริงแล้วน้ำชาบรรจุขวดหรือกล่องที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้น ไม่เหลือสรรพคุณทางยาแต่อย่างใด คาเทชินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อว่าดีกว่าวิตามินอีถึง 20 เท่า จึงช่วยป้องกันเซลล์ร่างกาย ที่จะนำไปสู่โรคร้ายอย่าง มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ และการแก่ก่อนวัย ชามีกาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกสดชื่อและกระปรี้กระเปร่า แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ บางคนที่แพ้สารนี้จะมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ในกรณีของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ หากร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไปอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตอย่างเฉียบพลัน
สารแนนนิน (Tannin) ที่ทำให้ชามีรสฝาดนั้น เป็นสารที่ก่อให้เกิดข้อห้ามในการดื่มชา เช่น ผู้มีไข้สูงไม่ควรดื่มชา เพราะแทนที่เหงื่อจะออกเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายคนไข้ลดลง สารแทนนินกลับส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาได้น้อยกว่าปรกติ ผู้ที่กินยาบำรุงโลหิตไม่ควรดื่มชา เพราะแทนนินจะทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารสำคัญในยา ทำให้ร่างกายดูดซับธาตุเหล็กไปใช้ประโยชน์ได้น้อย เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบไม่ควรดื่มชา เพราะสารแทนนินในชาจะรวมตัวกับธาตุเหล็กและในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจก่อให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาทางด้านสมองของเด็ก รวมไปถึงสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ก็ไม่ควรดื่มชา โดยเฉพาะชาเข็มข้น เพราะจะส่งผลเสียถึงทารกเช่นเดียวกัน อีกทั้งความสามารถในการขับน้ำนมก็จะลดลงด้วย
การชงชาให้ได้รสชาติดีมีวิธีแตกต่างกันตามชนิดของชา วิธีชงชาเขียวและชาอูหลง เริ่มด้วยการเทน้ำร้อนกลั้วในภาชนะชงชาให้ทั่ว แล้วเทน้ำทิ้ง ใส่ใบชาลงไป เทน้ำร้อนให้ท่วมใบชา เพื่ออุ่นใบชาและล้างฝุ่นผง เทน้ำทิ้ง แล้วจึงเทน้ำร้อนลงไปตามปริมาณที่ต้องการตั้งไว้ 3-4 นาทีก่อนเอาใบชาออก น้ำชาก็พร้อมดื่ม ส่วนการชงชาดำก็เหมือนกับชงชาเขียวและชาอูหลง แต่ต้องชงด้วยน้ำที่เดือดจัดจึงจะได้รับรสและกลิ่นชาที่เต็มที่ และไม่ต้องเทน้ำทิ้งในกาแรก ดื่มน้ำที่ชงลิ้มรสชาได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น