วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถั่วเหลือง สิ่งดี ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม


ถั่วเมล็ดเหลืองทองนี้มีโปรตีนสูงกว่าถั่วทุกชนิด จัดเป็นโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้อยู่ครบทั้ง 8 ชนิด โดยเฉพาะไลซีน ลิวซีน (Leucine) ทรีโอนีน (Threonine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดที่มีน้อยมากในธัญพืชชนิดอื่น ๆ แต่ถั่วเหลืองจะมีเมทไทโอนีนในปริมาณน้อย จึงควรกินถั่วเหลืองรวมกับธัญพืชและเมล็ดพืชอื่น ๆ เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ข้าวโพด งา เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีนักโภชนาการคำนวนไว้ว่าปริมาณถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม จะมากเท่ากับโปรตีนในเนื้อหมูแดง 2 กิโลกรัม หรือโปรตีนในไข่ไก่ 3 กิโลกรัม หรือโปรตีนในนมวัว 12 กิโลกรัม แต่ถั่วเหลืองอาจมีข้อด้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ตรงที่โปรตีนจากถั่วเหลืองจะถูกย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ไม่ดีเท่าโปรตีนจากสัตว์
ถั่วเหลืองมีน้ำมันมากที่สุดในบรรดาถั่วด้วยกัน คือประมาณร้อยละ 20 ของน้ำหนักเมล็ด ไขมันเกือบทั้งหมดเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและประกอบด้วยกรดไขมันที่จำเป็น รวมทั้งสารเลซิทิน (Lecithin) นอกจากนี้ ยังปราศจากคอเลสเตอรอลเช่นเดียวกับไขมันหรือน้ำมันพืช มีวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม มีธาตุเหล็ก 110 มิลลิกรัม มากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน (ผู้ใหญ่ต้องการธาตุเหล็กวันละ 10 มิลลิกรัม) ถั่วเหลืองจึงมีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็ก และมีฟอสฟอรัสถึง 5,710 กรัม มิลลิกรัม  (ผู้ใหญ่ต้องการฟอสฟอรัสวันละ 800 มิลลิกรัม) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ
ผลการวิจัยถั่วเหลืองพอฮอร์โมนในพืชชื่อว่า ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่มีสารสำคัญอย่าง เจนิสทีน (Genistein) มีฤทธิ์ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ไดซีน (Daidzein) มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิง และเทสโทสเทอโรนหรือฮอร์โมนเพศชาย แต่มีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวของฮอร์โมนทั้งสองตัว สารนี้จะเข้าไปจับกับเซลล์เต้านมหรือต่อมลูกหมาก ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนของตนเอง ที่มีฤทธิ์แรงกว่าและจะก่อให้เกิดมะเร็ง และการที่สารนี้มีฤทธิ์น้อย ๆ ก็จะทำให้ร่างกายมีการหล่อเลี้ยงของฮอร์โมนของฮอร์โมนเพศโดยไม่เกิดอาการพร่องฮอร์โมน ดังนั้น ถั่วเหลืองจึงสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งในต่อมลูกหมากและยังเหมาะสำหรับผู้หญิงก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือนด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำเดือน ก็ไม่ควรบริโภคถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมากเกินไป เพราะโดยทฤษฎี การบริโภคถั่วเหลืองซึ่งมีสารไฟโตเอสโทรเจนอาจมีผลกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ จึงไม่ควรบริโภคโดยมุ่งหวังถึงประโยชน์แต่ประการเดียว จนกว่าการศึกษาทางการแพทย์ในคนจะยืนยันถึงผลของการบริโภคถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองในปริมาณสูงเป็นประจำได้อย่างชัดเจน
นักวิจัยยังพบว่า ไอโซฟลาโวนช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า การบริโภคถั่วเหลืองให้ผลในการลดไขมันในเลือด ควรกินอย่างน้อยวันละ 25 กรัม และอนุญาติให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเหลืองอ้างผลดีของถั่วเหลืองในสลากอาหารได้ โดยมีเงื่อนไขว่า อาหารนั้นต้องมีโปรตีนถั่วเหลืองไม่น้อยกว่า 6.25 กรัมต่อ 1 หน่อยบริโภค รวมถึงมีไขมัน ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น