วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แคร์รอต ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้


พืชกินหัวสีส้มสดใสนี้ เดิมทีเป็นพืชป่าที่ไม่นิยมนำมากินเป็นอาหาร เพราะเนื้อแข็งและมีเสี้ยนเยอะ ไม่กรอบอร่อย แคร์รอตป่ามีทั้งหัวสีม่วง สีแดง สีเหลือง และสีขาว ส่วนแคร์รอตสีส้มสดใสรสชาติหวานกรอบนั้น เพิ่งเกิดจากการปรับปรุงสายพันธุ์ในช่วงศตวรรษที่ 17 นี้เอง

แคร์รอตเป็นแหล่งของโพแทสเซียม ช่วยในการขับปัสสาวะ มีแคลเซียมเพกเตท (Calcium Pectate) สามารถลดคอเลสเตอรอลได้ และยังมีวิตามินบี วิตามินซี เหล็ก และฟอสฟอรัส แต่ที่โดดเด่นคือวิตามินเอในรูปของเบตาแคโรทีน ยิ่งแคร์รอตเนื้อสีเหลืองหรือส้มสดก็ยิ่งให้เบตาแคโรทีนในปริมาณสูง ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลให้เกิดการยับยั้งมะเร็ง จากการวิจัยพบว่าสามารถลดการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ แม้แต่ในผู้ที่สูบบุหรี่มาหลายปีแล้วก็ตาม
การกินแคร์รอตมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแคโรทีนีเมีย (Carotenemia) คือภาวะที่มีแคโรทีนในเลือดสูง ซึ่งจะมีอาการตัวเหลืองเหมือนคนเป็นโรคดีซ่าน แต่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะภาวะนี้ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และจะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่อหยุดกินหรือกลับมากินในปริมาณปกติ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดอยู่นานเป็นแรมเดือน เพราะอาจเกิดโทษขึ้นได้เช่นกัน
พืชผักส่วนใหญ่จะให้สารอาหารสูงเมื่อกินแบบสด แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับแคร์รอต เพราะแคร์รอตดิบมีผนังเซลล์หนา ทำให้ความสามารถของร่างกายในการเปลี่ยนสารเบตาแคโรทีนเป็นวิตามินเอลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 แต่เมื่อปรุงให้แคร์รอตสุก ไม่เพียงแต่ไม่ทำลายสารเบตาแคโรทีน ยังกลับจะทำให้ความสามารถในการเปลี่ยนสารเบตาแคโรทีนเป็นวิตามินเอมีมากกว่าครึ่ง ยิ่งถ้ากินร่วมกับอาหารที่มีไขมัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมเบตาแคโรทีนได้ดีขึ้น เพราะแคโรทีนจะละลายตัวในตัวทำลายไขมัน และมีวิจัยพบว่า แคร์รอตที่ต้มทั้งหัวก่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นจะมีสารต้านมะเร็ง ฟาลคารินอล (Falcarinol) สูงกว่าแคร์รอตที่หั่นก่อนต้มถึงร้อยละ 25
วิธีเก็บรักษาแคร์รอตจากแปลงปลูก ต้องตัดใบให้หมดก่อนถอนขึ้นมาจากดิน เพื่อไม่ให้ความหวานในหัวลดลง หากต้องการเก็บแคร์รอตไว้ได้นานโดยยังคงความกรอบอยู่ ก็อย่าปลิดจุกทิ้ง และไม่ควรเก็บแคร์รอตรวมกับแอปเปิล แพร์ หรือพืช เพราะเมื่อผลไม้เหล่านี้สุกจะปล่อยแก๊สเอทิลีน (Ethylene) ทำให้แคร์รอตมีรสขม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น